ข้อ 43 ให้ผู้จัดการจัดให้มีการประชุมใหญ่เป็นครั้งแรกภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่จดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดต่อจากนั้นให้มีการประชุมใหญ่ปีละ 1 ครั้งเป็นอย่างน้อย การประชุมเช่นนี้เรียกว่า "การประชุมใหญ่สามัญ" การประชุมใหญ่คราวอื่นบรรดามีนอกจากนี้เรียกว่า "การประชุมใหญ่วิสามัญ"
ให้คณะกรรมการจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญปีละครั้งภายใน 120 วันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีของนิติบุคคลอาคารชุด
ในการจัดประชุมใหญ่ตามวรรคแรก และวรรคสอง ให้ผู้จัดการทำหนังสือแจ้งไปยังเจ้าของร่วมไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนวันประชุม โดยให้ส่งไปยังห้องชุดซึ่งจะส่งทางไปรษณีย์หรือนำส่งเองก็ได้ โดยมีเอกสารตอบรับหากไม่มีผู้รับก็ให้ปิดหนังสือไว้ ณ ห้องชุดนั้นได้ เว้นแต่กรณีเจ้าของร่วมได้แจ้งที่อยู่อื่นให้ทราบเป็นหนังสือแล้วก็ให้ส่งหนังสือไปยังที่อยู่ที่แจ้งให้ทราบนั้นโดยทางไปรษณีย์ตอบรับ
ในการส่งหนังสือตามวรรคสาม จะมีผู้รับไว้หรือไม่ก็ตามให้ถือว่าหนังสือดังกล่าวได้ส่งโดยชอบแล้ว
ข้อ 44 บุคคลต่อไปนี้มีสิทธิเรียกประชุมใหญ่วิสามัญได้
(1) ผู้จัดการ
(2) คณะกรรมการ
(3) เจ้าของร่วมเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของคะแนนเสียงทั้งหมดร้องขอให้เปิดประชุมต่อคณะกรรมการ ในกรณีเช่นนี้ ให้คณะกรรมการต้องจัดประชุมขึ้นตามคำร้องขอภายใน 15 วันนับจากวันรับคำร้องขอ ถ้าคณะกรรมการมิได้จัดประชุมภายในกำหนดเวลาดังกล่าว เจ้าของร่วมตามจำนวนดังกล่าวข้างต้นมีสิทธิจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญเองได้ โดยให้แต่งตั้งตัวแทนคนหนึ่งเพื่อออกหนังสือเรียกประชุม
ข้อ 45 การประชุมใหญ่ต้องมีเจ้าของร่วมมาประชุม ซึ่งมีเสียงลงคะแนนรวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนเสียงลงคะแนนทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
ในกรณีเจ้าของร่วมมาประชุมไม่ครบองค์ประชุมตามที่กำหนดในวรรคหนึ่งให้เรียกประชุมใหม่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเรียกประชุมครั้งก่อน และการประชุมใหญ่ครั้งนี้ไม่บังคับว่าจะต้องครบองค์ประชุม
ข้อ 46 มติที่ประชุมใหญ่ต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมากของเจ้าของร่วมที่เข้าประชุมเว้นแต่ข้อบังคับนี้จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
ข้อ 47 ในการลงคะแนนเสียงให้เจ้าของร่วมแต่ละรายมีคะแนนเสียงเท่ากับอัตราส่วนที่ตนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพส่วนกลาง
ถ้าเจ้าของร่วมคนเดียวมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนเสียงทั้งหมด ให้ลดจำนวนคะแนนเสียงของผู้นั้นลงเหลือเท่ากับจำนวนเสียงของเจ้าของร่วมรายอื่นๆรวมกัน
ข้อ 48 เมื่อมีข้อบังคับกำหนดให้เจ้าของร่วมเพียงบางคนต้องเสียค่าใช้จ่ายในการใดโดยเฉพาะให้เจ้าของร่วมเหล่านั้นมีส่วนออกเสียงในมติที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการนั้น โดยแต่ละคนมีคะแนนเสียงตามส่วนแห่งประโยชน์ที่มีต่อห้องชุด
ข้อ 49 เจ้าของร่วมอาจมอบฉันทะเป็นหนังสือให้ผู้อื่นออกเสียงแทนตนได้ แต่ผู้รับมอบฉันทะคนหนึ่งจะรับมอบฉันทะให้ออกเสียงในการประชุมครั้งหนึ่งเกินสามห้องชุดมิได้
บุคคลดังต่อไปนี้จะรับมอบฉันทะให้ออกเสียงแทนเจ้าของร่วมมิได้
(1) กรรมการและคู้สมรสของกรรมการ
(2) ผู้จัดการและคู่สมรสของผู้จัดการ
(3) พนักงานหรือลูกจ้างของนิติบุคคลอาคารชุดหรือของผู้รับจ้างของนิติบุคคลอาคารชุด
(4) พนักงานหรือลูกจ้างของผู้จัดการในกรณีที่ผู้จัดการเป็นนิติบุคคล
ข้อ 50 มติเกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้ ต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมด
(1) การแต่งตั้งหรือถอดถอนผู้จัดการ
(2) การกำหนดกิจการที่ผู้จัดการมีอำนาจมอบหมายให้ผู้อื่นทำการแทนได้
ข้อ 51 มติเกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้ ต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมด
(1) การแก้ไขเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนค่าใช้จ่ายร่วมกันตามข้อบังคับนี้
(2) การซื้ออสังหาริมทรัพย์ หรือรับให้อสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีค่าภาระติดพันเป็นทรัพย์ส่วนกลาง
(3) การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการใช้ หรือการจัดการทรัพย์ส่วนกลาง
(4) การก่อสร้างอันเป็นการเปลี่ยนแปลง เพิ่มเติม หรือปรับปรุงทรัพย์ส่วนกลางนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
(5) การจำหน่ายทรัพย์ส่วนกลางที่เป็นอสังหาริมทรัพย์
(6) การจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์ส่วนกลาง
(7) การอนุญาตให้เจ้าของร่วมทำการก่อสร้าง ตกแต่ง ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือต่อเติม ห้องชุดของตนเอง ที่มีผลกระทบต่อทรัพย์ส่วนกลาง หรือลักษณะภายนอกของอาคารชุดโดยค่าใช้จ่ายของผู้นั้นเอง
ในกรณีที่เจ้าของร่วมเข้าประชุมมีคะแนนเสียงไม่ครบตามที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งให้เรียกประชุมใหม่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันประชุมครั้งก่อน และมติเกี่ยวกับเรื่องที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่งในการประชุมครั้งใหม่นี้ต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น